วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านไทย


 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านไทย


ความหมายของการแสดงพื้นบ้าน
          การแสดงพื้นบ้าน เป็นการแสดงที่แสดงออกถึงการสืบทอดทางศิลปะและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่สืบทอดกันต่อ ๆ มาอย่างช้านาน ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน การแสดงจะออกมาในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม อาชีพ และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ตลอดจนอุปนิสัยของประชาชนในท้องถิ่น จึงทำให้การแสดงพื้นเมือง มีลีลาท่าทางที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง และพักผ่อนหย่อนใจ                           
     การแสดงพื้นบ้าน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่บรรพบุรุษไทยได้สั่งสม สร้างสรรค์ และสืบทอดไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้และรักในคุณค่าในศิลปะไทยในแขนงนี้ เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และพร้อมที่จะช่วยสืบทอด จรรโลง และธำรงไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป
การแสดงพื้นบ้าน เป็นการแสดงเพื่อก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ สังคม วัฒนธรรม แต่ละท้องถิ่น ดังนั้นการแบ่งประเภทของการแสดงพื้นเมืองของไทย โดยทั่วไปจะแบ่งตามส่วนภูมิภาค ดังนี้
          ๑.การแสดงพื้นบ้านของภาคเหนือ จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยป่า มีทรัพยากรมากมาย มีอากาศหนาวเย็น ประชากรมีอุปนิสัยเยือกเย็น นุ่มนวล งดงาม รวมทั้งกิริยา การพูดจา มีสำเนียงน่าฟัง จึงมีอิทธิพลทำให้เพลงดนตรีและการแสดง มีท่วงทำนองช้า เนิบนาบ นุ่มนวล ตามไปด้วย การแสดงของภาคเหนือเรียกว่า ฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น
          ๒.การแสดงพื้นบ้านของภาคกลาง โดยธรรมชาติภูมิประเทศเป็นที่ราบ เหมาะสำหรับอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน และเป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงออกมาในรูปแบบของขนบธรรมเนียมประเพณี และการประกอบอาชีพ เช่น เต้นกำรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลิเก ลำตัด กลองยาว เถิดเทิง เป็นต้น
          ๓.การแสดงพื้นบ้านของอีสาน ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขง แบ่งตามลักษณะของสภาพความเป็นอยู่ ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ประชาชนมีความเชื่อในทางไสยศาสตร์มีพิธีกรรมบูชาภูติ ผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และสะท้อนให้เห็นถึงการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี การแสดงของภาคอีสานเรียกว่า เซิ้ง เป็นการแสดงที่ค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง สนุกสนาน เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งกระหยัง เซิ้งสวิง เซิ้งดึงครกดึงสาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ฟ้อนที่เป็นการแสดงคล้ายกับภาคเหนือ เช่น ฟ้อนภูไท (ผู้ไท) เป็นต้น
        ๔.การแสดงพื้นบ้านของใต้ โดยทั่วไปภาคใต้มีอาณาเขตติดกับทะเล และประเทศมาเลเซีย ประชากรจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน ประชากรมีอุปนิสัยรักพวกพ้อง รักถิ่นที่อยู่อาศัย และศิลปวัฒนธรรมของตนเอง จึงมีความพยายามที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้จนสืบมาจนถึงทุกวันนี้ การแสดงของภาคใต้มีลีลาท่ารำคล้ายกับการเคลื่อนไหวของร่างกายมากกว่าการฟ้อนรำ ซึ่งจะออกมาในลักษณะกระตุ้นอารมณ์ให้มีชีวิตชีวาและสนุกสนาน เช่น โนรา หนังตะลุง รองเง็ง ตารีกีปัส เป็นต้น
        กล่าวได้ว่าการแสดงพื้นบ้านในแต่ละภาคจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของมูลเหตุแห่งการแสดง ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
        ๑.แสดงเพื่อเซ่นสรวงหรือบูชาเทพเจ้า เป็นการแสดงเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเซ่นบวงสรวงดวงวิญญาณที่ล่วงลับ
        ๒.แสดงเพื่อความสนุกสนานในเทศกาลต่างๆ เป็นการรำเพื่อการรื่นเริง ของกลุ่มชนตามหมู่บ้าน ในโอกาสต่างๆ หรือเพื่อเกี้ยวพาราสีกันระหว่าง ชาย – หญิง
        ๓.แสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการรำเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ หรือใช้ในโอกาสต้อนรับแขกผู้มาเยือน
        ๔.แสดงเพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอันเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมประเพณีเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก

ประเภทของการแสดงพื้นบ้าน
        ๑.การแสดงในเชิงร้องและขับลำ
         การร้องและขับลำ เป็นการใช้ภาษาเชิงปฏิภาณไหวพริบอย่างฉับไว แม้บางส่วนบางตอนจะใช้บทที่ท่องไว้แล้วก็ตาม แต่อาจนำเอามาปรุงถ้อยคำใหม่ได้ นับเป็นการแสดงที่เน้นเฉพาะการขับร้อง อาศัยถ้อยคำ ทำนอง และสำเนียงตลอดจนภาษาถิ่น เช่นตัวอย่าง ดังนี้
        ๑.ภาคกลาง เช่น ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ เพลงเหย่อย เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน เพลงสงคำลำพวน และเพลงพานฟาง เป็นต้น
        ๒.ภาคเหนือ เช่น ซออู้สาว เป็นต้น
        ๓.ภาคอีสาน เช่น กลอนลำ การสู่ขวัญ การพูดผญา เป็นต้น
        ๔.ภาคใต้ เช่น เพลงบอก เป็นต้น
๒.การแสดงในเชิงเรื่องราว
การแสดงในเชิงเรื่องราวรวมทั้งการแสดงขับร้องขับลำที่ขยายออกไปเป็นเรื่องราว จนถึงการแสดงแบบละคร ซึ่งมีการแสดง เช่น ฟ้อนรำ ออกท่าทาง และจัดตัวแสดงอย่างละคร มีดนตรีประกอบบ้าง ลักษณะการแสดงอาจจะใช้เรื่องราวจากนิทาน นิยายหรือวรรณกรรมตอนใดตอนหนึ่ง เช่นตัวอย่าง ดังนี้
        ๑.ภาคกลาง เช่น การแหล่ออกตัว เสภารำ สวดคฤหัสถ์ ลิเก ละครชาตรี เป็นต้น
        ๒.ภาคเหนือ เช่น การแสดงเรื่องน้อยไจยา เป็นต้น
        ๓.ภาคอีสาน เช่น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ เป็นต้น
        ๔.ภาคใต้ เช่น โนรา ลิเกป่า เป็นต้น
๓.การแสดงในเชิงขบวนแห่
การแสดงในเชิงจัดขบวน มีขึ้นเพื่อแสดงความครึกครื้นสนุกสนานในการเดินทางเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จัดเป็นขบวนแห่ซึ่งมีการร้องรำทำเพลงและฟ้อนรำเข้าขบวนไปด้วยกัน เป็นการแสดงที่มีอยู่ทุกภาค เช่นตัวอย่าง ดังนี้
        ๑.ภาคกลาง เช่น การรำกลองยาว แตรวง กระตั้วแทงเสือ เป็นต้น
        ๒.ภาคเหนือ เช่น ขบวนฟ้อน กลองสะบัดไชย เป็นต้น
        ๓.ภาคอีสาน เช่น การเซิ้งเข้าขบวนบั้งไฟ ขบวนปราสาทผึ้ง ขบวนแห่เทียนเข้าพรรษา เป็นต้น
        ๔.ภาคใต้ เช่น แห่หมรับ การส่งตายาย เป็นต้น


คุณค่าของการแสดงพื้นบ้าน

การแสดงพื้นบ้านของไทย เป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีอารยธรรมและความเจริญงอกงามของคนในชาติ ซึ่งสามารถจำแนกคุณค่าของการแสดงพื้นบ้านเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
๑. คุณค่าด้านความบันเทิง ความเจริญเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการแสดงทุกประเภท เพราะการแสดงพื้นบ้านทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินทั้งจากลีลาท่าทางของผู้แสดง ความวิจิตรงดงามของเครื่องแต่งกาย ความงามสวยงามของฉาก
          คุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้านเป็นศูนย์รวมของงามศิลป์หลากหลายสาขา เช่น  ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ มัณฑนศิลป์ วิจิตรศิลป์ และขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงามของท้องถิ่น
          คุณค่าด้านจริยธรรม เนื้อเรื่องของการแสดงส่วนใหญ่จะสะท้อน คติธรรมค่านิยมทางพุทธศาสนา การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม
          คุณค่าด้านความคิด การแสดง และการละเล่นพื้นบ้านหลายประเภท เป็นการแสดงความสามารถด้านคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ สอดแทรกคติสอนใจ และแนวคิดที่เป็นประโยชน์
          คุณค่าด้านการศึกษา การแสดงพื้นบ้านของภาคต่างๆ ก่อให้ประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น
          ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านของท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักฐานในการอนุรักษ์ และสืบทอดการแสดงพื้นบ้านของไทยไว้เป็นมรดกประจำท้องถิ่น และประจำชาติสืบไป นอกจากนี้ได้มีการดัดแปลง และสร้างสรรค์การแสดงพื้นบ้านขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งลีลาท่ารำ และการแต่งกายเพื่อให้สวยงามและสอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งได้แสดงให้เห็นต่อไป


การอนุรักษ์การแสดงพื้นบ้าน
การอนุรักษ์การแสดงพื้นบ้านไทยให้ดำรงอยู่สืบไปจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไทยทุกคน ซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกัน ดังนี้
๑. การรวบรวมข้อมูลการแสดงพื้นบ้านต่างๆ ทั้ง จากคนในท้องถิ่น และเอกสารที่ได้มีการบันทึกไว้ เพื่อนำมาศึกษา วิจัยให้เข้าใจถึงแก่นแท้ เอกลักษณ์ และคุณประโยชน์ของการแสดงนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดการยอมรับ และนำไปปรับใช้กับชีวิตยุคปัจจุบันได้
๒. ส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของการแสดงพื้นบ้านไทย โดยเฉพาะการแสดงในท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงเอกลักษณ์ของการแสดงพื้นบ้าน
๓. การรณรงค์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบในการอนุรักษ์การแสดงพื้นบ้านให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการแสดงพื้นบ้านว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน รวมทั้งภาคเอกชนต้องร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานการบริการความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางการแสดงพื้นบ้านให้กับชุมชน
๔. สร้างศูนย์กลางในเผยแพร่ประชา สัมพันธ์ผลงานทางด้านวัฒนธรรม ด้วยระบบเครือข่ายสารสนเทศ เช่นเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตได้ง่าย อย่างไรก็ดีสื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านการแสดงพื้นบ้านมากยิ่งขึ้นด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น