วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การแสดงพื้นบ้านภาคใต้

 


ภาคใต้ของประเทศไทยติดต่อกับประเทศมาเลเซีย  ซึ่งแต่ก่อนเรียกกันว่า มลายู         ชนพื้นเมืองในประเทศนั้นนับถือศาสนาอิสลาม ประกอบกับชาวไทยภาคใต้มีความใกล้ชิดกับประเทศใกล้เคียวมาก จึงมีสำเนียงในการพูดแตกต่างออกไปจากภาคอื่น ๆ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ความเป็นไทยลดลง กลับจะทำให้เกิดความสำนึกในความเป็นไทยมากขึ้น ในเมื่อต้องอยู่ร่วมกับสังคมของคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น  ซึ่งก็มิได้เกิดปัญหาแต่อย่างใด ต่างก็อยู่อย่างสันติสุขมาตลอด การถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เป็นไปอย่างเหมาะสมกลมกลืนยิ่ง
ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ  ดนตรี  และการเล่นการแสดงต่าง ๆ ของภาคใต้  ก็จัดว่ามีเอกลักษณ์เด่นชัดเฉพาะของตัวเอง ความอ่อนช้อย กระฉับกระเฉง และแม่นยำ มั่นใจในการแสดงออกซึ่งศิลปะทางด้านนี้ ทำให้สะท้อนภาพของการดำเนินชีวิตซึ่งต้องต่อสู้ทั้งภัยธรรมชาติและอื่น ๆ ทำให้เกิดความแข็งแกร่งในชีวิตจนดูออกจะแข็งกร้าวแต่ไม่ดุร้าย ความอ่อนโยนทั่วไปจะซ่อนเร้นอยู่กับท่วงทีซึ่งจริงจัง ขึงขังและเฉียบขาด จาการขับร้องตามสำเนียงท้องถิ่น ทำให้ทราบได้ว่าเน้นในเรื่องของจังหวะแม้ว่าจะต้องใช้การเอื้อนตามทำนองที่มีทั้งยาวและสั้นก็ตามปฏิภาณในการเล่นเพลงบอก ซึ่งเป็นเพลงประเภทดำเนินคำกลอน ทำให้ซาบซึ้งถึงคุณธรรมและแนวจริยธรรมของคนในท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีดังต่อไปนี้


โนรา 

หรือบางคนเรียกว่า มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคใต้ ลักษณะการเดินเรื่อง และรูปแบบของการแสดงคล้ายละครชาตรีที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในภาคกลาง เดิมการแสดงโนราจะใช้เนื้อเรื่องจากวรรณคดีเรื่องพระสุธน-มโนราห์ โดยตัดตอนแต่ละตอน ตั้งแต่ต้นจนจบมาแสดง เช่น ตอนกินรีทั้งเจ็ดเล่นน้ำในสระ ตอนพรานบุญจับนางมโนราห์ ตอนพรานบุญจับนางมโนราห์ไปถวายพระสุธน ฯลฯ ปกติการแสดงโนราจะเริ่มจากนายโรงหรือโนราใหญ่ ซึ่งเป็นตัวเอกหรือหัวหน้าคณะออกมารำ “จับบทสิบสอง” คือ การรำเรื่องย่อต่าง ๆ สิบสองเรื่อง เช่น พระสุธน-มโนราห์ พระรถ-เมรี ลักษณวงศ์ เป็นต้น แต่หากผู้ว่าจ้างไปแสดงขอให้จับตอนใดให้จบเป็นเรื่องยาว ๆ ก็จะแสดงตามนั้น 
วีดีโอ มโนราห์








หนังตะลุง 

เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่มีมานานจนยังหาต้นตอดั้งเดิมไม่ได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคใด สมัยใด คงมีการบันทึกไว้ในระยะหลังที่เป็นหลักฐาน แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน   ว่าเริ่มมีมาเมื่อใด เท่าที่มีการจดบันทึกได้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว            มีการนำหนังตะลุงจากภาคใต้มาแสดงถวายทอดพระเนตรที่พระราชวังบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙
การแสดงหนังตะลุง แต่เดิมจะเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ต่อมาการติดต่อสื่อสารก้าวหน้าขึ้น เริ่มนำเรื่องในวรรณคดีต่าง ๆ มาแสดง  ปัจจุบันหนังตะลุงนำนวนิยายรักโศก เหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมาแสดง บางคณะก็แต่งบทเองแบบนวนิยาย มีพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวอิจฉา การเล่นหรือเชิดหนังตะลุงในช่วงหัวค่ำ ในสมัยก่อนจะเริ่มจากการออกลิงขาว ลิงดำ หรือที่เรียกว่าจับลิงหัวค่ำ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ไม่มีแล้ว
คณะหนังตะลุง ประกอบด้วย นายหนัง ๑ คน ซึ่งเป็นเจ้าของคณะเป็นผู้เชิดตัวหนัง พากย์และเจรจา ร้องรับและเล่นดนตรีด้วย ชื่อคณะมักใช้ชื่อของนายหนังเป็นชื่อคณะ เช่น หนังจูเลี่ยม  กิ่งทอง ลูกคู่ ๕-๖ คน
โรงหนังตะลุงจะปลูกเป็นเพิงหมาแหงน ฝาและหลังคามุงด้วยจากหรือทางมะพร้าว สูงจากพื้นดินราว ๑๕๐-๑๗๐ เซนติเมตร เป็นโรงสี่เหลี่ยม บันไดขึ้นด้านหลัง ใช้พื้นที่ราว ๘-๙ ตารางเมตร ด้านหน้าโรงจะมีจอผ้าขาวขอบสีน้ำเงินขึงเต็มหน้าโรง มีไฟส่องตัวหนังให้เกิดภาพหน้าจอ มีหยวกกล้วยทั้งต้นสำหรับปักตัวหนังวางอยู่ขอบล่างของจอด้านในลูกคู่และดนตรีจะนั่งอยู่ถัดจากนายโรง
ตัวหนัง ทำจากหนังวัวแกะและฉลุ ขนาดจะต่างกันไปตามบทบาทของหนัง เช่น รูปเจ้าเมือง รูปยักษ์ รูปฤาษีจะมีขนาดใหญ่กว่ารูปอื่น ๆ  คณะหนึ่ง ๆ จะมีตัวหนังราว ๑๕๐-๒๐๐ ตัว เวลาเก็บหนังจะแยกกันเก็บ เช่น ยักษ์ พระ นาง จะแยกกัน รูปฤาษี เทวดา ตัวตลกจะเก็บไว้บนสุด เก็บเป็นแผงซ้อน ๆ กัน มีไม้ไผ่สานเป็นเสื่อลำแพนหนีบอยู่ทั้งบนและล่าง และใช้เชือกผูก เก็บเป็นแผง ๆ
ดนตรีประกอบการแสดง ประกอบด้วยโหม่ง ๒ ใบ  ทับโนรา ๒ ใบ  กลองโนรา ๒ ใบ          ปี่ ๑ เลา    
ความยาวของการแสดงชุดนี้ ใช้เวลาประมาณ ๒-๖ ชั่วโมง




 วีดีโอ หนังตะลุง



 

การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง





























              ภาคกลางได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย  เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จึงมีเวลาที่จะคิดประดิษฐ์ หรือสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามได้มาก และมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาลและตามโอกาสที่มีงานรื่นเริงภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมี การถ่ายทอดสืบต่อกันและพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆและออกมาในรูปแบบของขนบธรรมเนียมประเพณี และการประกอบอาชีพ เช่น เต้นกำรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลง  อีแซว ลิเก ลำตัด กลองยาว เถิดเทิง เป็นต้น บางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี เช่น รำวง และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่น ใกล้เคียงเข้าไว้หมด แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลาง คือการร่ายรำที่ใช้มือ แขนและลำตัว เช่น โขน ละครชาตรี ละครนอก ละครใน ลิเก หุ่น หนังใหญ่ เป็นต้น 

ตัวอย่างการแสดงพื้นบ้านภาคกลาง 

    

     เต้นกำรำเคียว



        เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เก่าเเก่ของชาวชนบทในภาคกลาง แถบจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชาวชนบทส่วนมากมีอาชีพการทำนาเป็นหลัก เเละด้วยนิสัยรักสนุกกับการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น ในเนื้อเพลงจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ลักษณะการรำ จะเน้นความสนุก เป็นใหญ่ มีทั้งเต้นและรำควบคู่กันไป ในมือของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือข้าวที่เกี่ยวเเล้ววิธีเล่น จะมีผู้เล่นประมาณ 5 คู่ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายชายเรียกว่า พ่อเพลง ฝ่ายหญิงเรียกว่าแม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนเเม่เพลงให้ออกมา เต้นกำรำเคียว โดยร้องเพลงเเละเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องเเละ รำแก้กันไป ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลาย ๆ คน ช่วยกันร้องจนจบเพลง ผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็จะเป็นลูกคู่ ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้วให้จังหวะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการเล่นเต้นกำรำเคียวจากชาวบ้านตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงการเล่นเพื่อให้เหมาะกับการนำออกแสดงในงานบันเทิง โดยให้ นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญนาฏดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติแต่งทำนองเพลงประกอบการแสดงตอนเริ่มต้นก่อนร้องบทโต้ตอบและตอนจบบทร้องผู้แสดงทั้งชายและหญิงมือขวาถือเคียว มือซ้ายถือกำรวงข้าว ทำท่าตามกระบวนเพลงร้องเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน บทร้องมีอยู่ ๑๑ บท คือ บทมา ไป เดิน รำ ร่อน บิน ยัก ย่อง ย่าง แถ ถอง และเพลงในกระบวนนี้ผู้เล่นอาจด้นกลอนพลิกแพลงบทร้องสลับรับกันด้วยความสนุกสนาน บางครั้ง ในการแสดงอาจตัดบทร้องบางบทเพื่อความกระชับ ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงนำและตอนจบผู้แสดงแต่งกายพื้นบ้านภาคกลาง ชาวนาชาย นุ่งกางเกงขายาว เสื้อคอกลมผ่าอกแขนสั้นเหนือศอก สีน้ำเงินคราม ผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกปีก ชาวนาหญิง นุ่งผ้าพื้นดำ โจงกระเบน เสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาวสีน้ำเงินหรือต่างสี สวมงอบ การแสดงชุดนี้สามารถแสดงได้โดยไม่จำกัดเวลาตัวอย่างเพลงที่ใช้ร้อง 

  วีดิโอ เต้นกำรำเคียว


          รำเหย่อย
รำเหย่อย เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของไทยที่นิยมเล่นกันในบางหมู่บ้าน บางท้องถิ่นของภาคกลางนอกตัวจังหวัดเท่านั้น ไม่สู้จะแพร่หลายนัก การละเล่นประเภทนี้ดูแทบจะสูญหายไป กรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นว่าการเล่นรำเหย่อยมีแบบแผนการเล่นที่น่าดูมาก ควรรักษาให้ดำรงอยู่และแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงได้จัดส่งคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปรับการฝึกหัดและถ่ายทอดการละเล่นเพลงเหย่อยไว้จากชาวบ้านที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2506 แล้วนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในโอกาสที่รัฐบาลจัดการแสดงถวายสมเด็จพระรามาธิบดีแห่งมาเลเซีย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2507 คำร้องแต่งขึ้นตามแบบแผนของการรำเหย่อยใช้ถ่อยคำพื้น ๆ ร้องโต้ตอบกันด้วยกลอนสด เป็นการร้องเกี้ยวกันระหว่างชายหญิงมุ่งความสนุกเป็นส่วนใหญ่รำเหย่อยนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พาดผ้า”

วีดิโอ รำเหย่อย