วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

การแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน











          ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก จึงหาความบันเทิงได้ทุกโอกาส
          การแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล เช่น แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฯลฯ   ลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลาและจังหวะในการก้าวเท้า มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวล มักเดินด้วยปลายเท้าและสะบัดเท้าไปข้างหลังสูง เป็นลักษณะของ เซิ้ง
          การแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ ๆ คือ
          กลุ่มอีสานเหนือ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของลาว ซึ่งมักเรียกการละเล่นว่า เซิ้ง ฟ้อน และหมอลำเช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ฟ้อนภูไท เซิ้งสวิง เซิ้งบ้องไฟ เซิ้งกะหยัง เซิ้งตังหวาย ฯลฯ ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านประกอบด้วย แคน พิณ ซอ กลองยาวอีสาน โปงลาง โหวด ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง และ กรับ
          ส่วนกลุ่มอีสานใต้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของเขมร มีการละเล่นที่เรียกว่า เรือม หรือ เร็อมเช่น เรือมอันเร (รำกระทบสาก) รำกระโหนบติงต็อง (ระบำตั๊กแตนตำข้าว) รำอาไย (รำตัด) วงดนตรีที่ใช้บรรเลงคือวงมโหรีอีสานใต้ มีเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ซอตรัวเอก กลองกันตรึม พิณ ระนาดเอกไม้ ปี่สไล กลองรำมะนา และเครื่องประกอบจังหวะ การแต่งกายประกอบการแสดงแต่งแบบวัฒนธรรมของพื้นบ้านอีสาน มีลักษณะลีลาท่ารำและท่วงทำนองดนตรีในการแสดงค่อนข้างกระชับ กระฉับกระเฉง รวดเร็ว และสนุกสนาน
ตัวอย่างการแสดงพื้นบ้านอีสาน 


การฟ้อนภูไทเรณูนคร
          การฟ้อนภูไทเรณูนคร เป็นการฟ้อนประเพณีที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ที่สร้างบ้านแปลงเมือง การฟ้อนภูไทนี้ถือว่าเป็นศิลปะเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ประจำเผ่าของภูไทเรณูนคร ถือว่าฟ้อนภูไทเป็นการฟ้อนที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม 
          ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมานมัสการพระธาตุพนมในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น นายสง่า จันทรสาขา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ได้จัดให้มีการฟ้อนผู้ไทถวาย นายคำนึง อินทร์ติยะ ศึกษาธิการอำเภอเรณูนคร ได้อำนวยการปรับปรุงท่าฟ้อนผู้ไทให้สวยงามกว่าเดิม โดยเชิญผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ในการฟ้อนผู้ไทมาให้คำแนะนำ จนกลายเป็นท่าฟ้อนแบบแผนของชาวเรณูนคร และได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานสืบทอดต่อจนปัจจุบัน
          ในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุวิชา การฟ้อนภูไทเรณูนคร เข้าไว้ในหลักสูตร ให้นักเรียนทั้งชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้ฝึกฝนเล่าเรียนกันโดยเฉพาะนักเรียนที่เล่าเรียนอยู่ในสถานศึกษาภายในเขตอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม จะฟ้อนรำประเพณี  ฟ้อนภูไทเรณูนครเป็นทุกคน
          ลักษณะการฟ้อนภูไทเรณูนคร ชายหญิงจับคู่เป็นคู่ ๆ แล้วฟ้อนท่าต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนรำเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลาท่าฟ้อน
          หญิงสาวที่จะฟ้อนภูไทเรณูนครต้อนรับแขก จะได้ต้องเป็นสาวโสด ผู้ที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อนภูไทเรณูนคร เวลาฟ้อนทั้งชายหญิงจะต้องไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า และที่สำคัญคือในขณะฟ้อนภูไทนั้น ฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะผิดผี เพราะชาวภูไทนับถือผีบ้านผีเมือง อาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณีได้
  วิดีโอ ฟ้อนภูไทเรณูนคร

 


การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์ 


การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์ เป็นการฟ้อนประกอบทำนองหมอลำภูไท ซึ่งเป็นทำนองพื้นเมืองประจำชาชาติพันธุ์ภูไท ซึ่งปกติแล้วการแสดงหมอลำภูไท มักจะมีการฟ้อนรำประกอบกันไปอยู่แล้ว ซึ่งทำให้การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์ในแต่ละอำเภอหรือหมู่บ้าน จะมีท่าฟ้อนที่แตกต่างกัน
          การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์ เป็นการฟ้อนที่ได้การปรับปรุงท่ามาจากท่าฟ้อนภูไท ท่าฟ้อนในเซิ้งบั้งไฟ และท่าฟ้อนดอนตาล ประกอบด้วยท่าฟ้อนไหว้ครู ท่าเดิน ท่าช่อม่วง ท่ามโนราห์ ท่าดอกบัวบาน ท่ามยุรี ท่ามาลัยแก้ว ฯลฯ ซึ่งผู้ฟ้อนจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด
          ท่าฟ้อนของชาวภูไทได้ถูกรวบรวมโดย นายมณฑา ดุลณี ร่วมกับกลุ่มแม่บ้านชาวภูไทบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้คิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนภูไทให้เป็นระเบียบ ๔ ท่าหลัก ส่วนท่าอื่นๆนั้น คณะครูหมวดนาฏศิลป์พื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ เป็นผู้คิดประดิษฐ์โดยได้นำเอาการฟ้อนของชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอคำม่วง รวบรวมเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งเมื่อเสร็จเรียบร้อย จึงได้ทำการแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร

   วิดีโอ ฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์
 






การแสดงพื้นบ้านภาคเหนือ


























 


         อาณาบริเวณทางภาคเหนือของไทย ที่เรียกว่า ล้านนานั้น ประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ ๘ จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่านและแม่ฮ่องสอน เคยมีประวัติอันซับซ้อนและยาวนานเทียบได้กับสมัยสุโขทัย เคยมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้พระยากาวิละ ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองลำปางขึ้นไปปกครองเชียงใหม่ อันถือว่าเป็นศูนย์กลางทั้งด้านปกครอง การเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้านของภาคเหนือมีความเด่นอยู่ในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าเคยอยู่ในอำนาจของรัฐอื่น ๆ มาบางระยะบ้าง ก็มิได้ทำให้รูปแบบของการแสดงต่าง ๆ เหล่านั้นเสื่อมคลายลง ส่วนที่ได้รับอิทธิพลก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการประยุกต์ให้เขารูปแบบของล้านนาดั้งเดิมอย่างน่าชมเชยมาก แสดงว่าสามารถรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์

การฟ้อนรำ
        ศิลปะแห่งการฟ้อนรำของไทยภาคเหนือ มีแบบอย่างดั้งเดิมที่รักษากันไว้แบบหนึ่ง กับแบบอย่างที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ ตลอดจนแบบอย่างสร้างขึ้นแต่มีพื้นฐานดั้งเดิมอยู่ในตัว ซึ่งถ้าจะแยก ให้ชัดเจนก็จะได้ดังนี้
        การฟ้อนรำแบบดั้งเดิม แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๓ ประเภท คือ ฟ้อนเมือง ฟ้อนม่าน และฟ้อนเงี้ยวดังต่อไปนี้
        . ฟ้อนเมือง หมายถึงการฟ้อนรำแบบพื้นเมือง เป็นการฟ้อนรำที่มีแบบอย่างถ่ายทอดสืบ ต่อกันมานานอันประกอบด้วยการฟ้อนรำ ดนตรี และการขับร้อง ซึ่งฟ้อนบางอย่างก็มีแต่ดนตรีกับฟ้อนแต่ไม่มีการขับร้องอาจจำแนกได้หลายชนิด
          ฟ้อนเล็บแบบดั้งเดิม ผู้แสดงเป็นหญิงทั้งหมด ใช้ดนตรีประกอบคือ วงติ่งโนง ประกอบด้วยกลองแอว (กลองติ่งโนง) หรือกลองหลวง กลองตะโล้ดโป้ด ปี่แนน้อย ปี่แนหลวง ฉาบ ฆ้อง ฟ้อนเล็บนี้ภายหลังได้รับการปรับปรุงใหม่ ทำให้ลีลาการฟ้อนรำแตกต่างออกไปจากเดิมบ้าง

          ฟ้อนดาบ  มีกระบวนท่ารำ ๓๒ ท่านับเป็นแบบของล้านนาโดยเฉพาะ ผู้แสดงเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ ใช้วงปูเจ่เป็นวงดนตรีประกอบ มีกลองปูเจ่หรือกลองกันยาว ฉาบ ฆ้องชุด (๓ หรือ ๗ ลูก) เป็นการรำดาบที่สวยงามมาก
          ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่า ใช้ดนตรีเช่นเดียวกับฟ้อนดาบ ผู้แสดงเป็นผู้ชายมีท่าต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า ๓๐ ท่า ซึ่งมีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาตลอด และยังรักษาแบบอย่างอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน
           ฟ้อนผีมด เป็นลักษณะการร่ายรำของคนเข้าทรง เช่นเดียวกับการทรงหรือเข้าแม่ศรีของภาคกลางใช้วงดนตรีป๊าด คือ วงปี่พาทย์นั่นเอง แต่ใช้เพลงที่ออกทำนองมอญหรือพม่า เป็นการฟ้อนร่วมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง สำหรับพิธีการต่าง ๆ
           ฟ้อนแง้น เป็นที่นิยมอยู่ในแถบจังหวัดแพร่ น่าน เชียงราย พะเยา ประกอบการบรรเลงดนตรีสะล้อซึงและปี่ เมื่อซอสิ้นคำลงและปี่เป่ารับตอนท้ายก็ฟ้อนรำ ฟ้อนได้ทั้งหญิงและชาย ฯลฯ
        . ฟ้อนม่าน หมายถึงการฟ้อนรำตามแบบอย่างของพม่าหรือมอญ คงจะเป็นด้วยเมื่อครั้งเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นของพม่า จึงมีการถ่ายทอดแบบอย่างการฟ้อนรำ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ
            รำม่านหรือฟ้อนพม่า เป็นการรำตามแบบแผนของพม่า โดยการยกแขยแอ่นตัวยืดขึ้นสูง แล้วทิ้งตัวลงต่ำทันที จึงดูคล้ายการเต้นช้า ๆ แต่อ่อนช้อย มีทั้งที่รำเดี่ยวและรำหมู่ ตลอดจนรำเป็นคู่หญิงชาย แต่ค่อนข้างหาดูได้ยาก ทั้งท่ารำก็ไม่ค่อยมีแบบแผนมากนัก ดนตรีประกอบใช้ดนตรีพื้นเมืองที่ออกสำเนียงพม่าหรือมอญ
            ฟ้อนผีเม็ง เป็นการฟ้อนรำโดยการเข้าทรงเช่นเดียวกับฟ้อนผีมด นิยมเล่นในงานสงกรานต์ตามแบบแผนของชาวรามัญ (มอญ) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาส่วนหนึ่งหลังจากอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและพม่าเคยกวาดต้อนเอาเข้ามาอยู่ตามหัวเมืองเหนือ ในการฟ้อนนี้จะตั้งเตาไฟและหม้อดินบรรจุปลาร้าไว้ตรงหน้าโรงพิธีซึ่งปลูกแบบเพิงง่าย ๆ การฟ้อนเริ่มด้วยการที่ผู้เข้าผีเริ่มขยับร่างกาย
        
       ๓. ฟ้อนเงี้ยว ความจริงแล้ว ฟ้อนเงี้ยวเป็นการฟ้อนตามแบบแผนของชาวไตหรือไทยใหญ่ การฟ้อนของชาวไตมีหลายแบบ ส่วนใหญ่แล้วมักใช้กลองก้นยาว ฉาบ และฆ้อง เท่านั้น มีอยู่บ้างที่ใช้ดนตรีอื่น คือ ฟ้อนไต
          
           ฟ้อนเงี้ยวแบบดั้งเดิม เป็นการฟ้อนรำของผู้ชายฝ่ายเดียว ไม่มีผู้หญิงปนเหมือนที่มีการประยุกต์ขึ้นใหม่ ตามแบบดั้งเดิมนั้นไม่กำหนดท่ารำที่แน่นอน แต่จะออกท่ารำ   ต่าง ๆ ผสมการตลกคะนองไปด้วยในตัว ไม่ลง มง แซะ มง …” แต่จะออกทำนองกลองก้นยาว คือ บอง บอง บอง เบอง เทิ่ง บองการแต่งกายก็แต่งแบบชาวไตมีการพันศรีษะด้วยผ้าขาวม้า
           ฟ้อนกินราหรือกิงกะหลา แบบเดิมเป็นอย่างไรไม่อาจระบุชัดได้ เพราะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงออกไปต่าง ๆ แม้การแต่งกายก็เช่นเดียวกัน เดิมนั้นเป็นการรำเลียนแบบนก มีการรำคู่กัน เกี้ยวพาราสีกัน หรือหยอกล้อเล่นหัวกัน ดนตรีที่ใช้ประกอบการรำก็คือกลองก้นยาว ฉาบ ฆ้อง ไม่มีการร้อง
            ฟ้อนกำเปอหรือกำเบ้อ กำเบ้อคงแต่งกายด้วยปีกหางอย่างนกหรือผีเสื้อ มีสีต่าง ๆ สวยงาม แต่ถ้าเป็นการแสดงทั่วไปก็ไม่มีการแต่งกายอย่างนั้น เพียงแต่แบบแผนท่ารำค่อนข้างไปทางธรรมชาติมากเท่านั้นดังนั้นชาวบ้านก็อาจฟ้อนรำได้
            ฟ้อนโต เป็นการฟ้อนในรูปของสัตย์ เช่น มังกร กิเลน หรือสิงโต แต่งกายตามแบบของสัตว์นั้น ๆ บางแห่งเป็นกวางหรือฟาน มีการเต้นตามจังหวะดนตรี กลิ้งตัวไปมา หรือเดินอวดร่างกาย อาจมีหลายคน หรือเป็นคู่ หรือแสดงเดี่ยว ทำให้นึกถึงการแสดงของจีนที่ทำเป็นร่างของสิงโต ใช้คนแสดง ๒ คน เป็นขาคู่หน้า ๑ คน เป็นขาคู่หลัง ๑ คน ต้องเต้นให้รู้ท่าทางจังหวะกันอย่างคล่องแคล่ว
             ฟ้อนดาบ แตกต่างไปจากฟ้อนดาบแบบล้านนา เพราะมีความรวดเร็ว คล่องตัวมากกว่าเกือบจะไม่ห่วงเรื่องจังหวะดนตรีเลย กลายเป็นว่าดนตรีต้องช้าเร็ว ตามผู้ฟ้อนรำ ดาบที่ใช้รำนั้นยาวมาก แต่เมื่อฟาดเข้าหาตัวแล้ว การงอตัวหลบปลายดาบเป็นที่น่าหวาดเสียวมาก ท่ารำเป็นท่าตามแบบแผนดั้งเดิมไม่มีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด
             ฟ้อนไต เป็นการฟ้อนรำที่ไม่จำกัดจำนวนคน อาจออกเป็นขบวนยาวได้ มีลีลาการรำที่ช้าคล้ายฟ้อนพื้นเมืองของล้านนา เนื่องจากเนื้อแท้การฟ้อนนี้ เป็นการฟ้อนเพื่อความสามัคคี จึงได้รับความสนใจมากจนกำลังจะได้รับการพัฒนาขึ้นในรูปของการรำแบบใหม่
            นอกจากการฟ้อนรำดังกล่าวมาแล้ว ยังมีการเล่นอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น มองเซิง เป็นการเล่นแบบร้องโต้ตอบกันระหว่างหญิงกับชาย  มีการบรรเลงเพลงพื้นบ้าน โดยวงดนตรีพื้นเมือง ซึ่งใช้เพลงชื่อ หม่องส่วยยีเป็นเพลงที่มีทำนองพม่า และมีการเสนอแนะใหม่โดยผู้มีอำนายการวิทยาลัยนาฏศิลป์ นายธีรยุทธ ยวงศรี เพชรน้ำเอกของวงการนาฏศิลป์ โดยให้ใช้เพลงทำนองปานแซง ซึ่งเป็นเพลงไทยใหญ่แทน
           
การเล่นอื่น ๆ เช่น เฮ็ดความหมายความว่า การนั่งร้องเนื้อความที่โต้ตอบกัน เพียงแต่นั่งร้องอย่างเดียวส่วนการเล่น จ๊าดไตเป็นการแสดงแบบลิเก คล้ายละครซอผสมกับลิเกทางภาคกลาง ซึ่งทำให้การแสดงต่าง ๆ เป็นไปตามแบบอย่างที่เคยมีมาแต่สมัยก่อน ๆ อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

การฟ้อนรำแบบปรับปรุงใหม่ คงจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการกล่าวถึงประวัติของการพัฒนา ซึ่งกล่าวได้ว่า พระราชายาดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเอาท่วงที ลีลาแห่งการฟ้อนรำจากราชสำนักสยามขึ้นไปเผยแพร่ เป็นการจัดระเบียบและวางแบบแผนให้ถูกต้องตามหลักการแห่งนาฏศาสตร์ยิ่งขึ้นมีการฟ้อนต่าง ๆ ที่ใช้ลีลาที่งดงามยิ่งขึ้น แม้ว่าจะแปลกออกไปจากของดั้งเดิม แต่ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า แบบใดเป็นของล้านนามาแต่ดั้งเดิม และแบบใดเป็นของที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ ดังต่อไปนี้





           ฟ้อนเล็บ แม้เป็นการฟ้อนตามแบบดั้งเดิมก็ตาม แต่กำหนดการแต่งกาย การประดับดอกไม้บนเรือนผมของผู้ฟ้อนรำซึ่งแตกต่างออกไปจากเดิมบ้าง ท่วงทีลีลาในการฟ้อนรำก็เชื่องช้า แสดงให้เห็นแบบอย่างของราชสำนักแห่งภาคกลาง และยังคงใช้วงดนตรีติ่งโนงอย่างเดิม ซึ่งได้มีการแสดง   อย่างมโหฬารในคราวรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ และในการสมโภชช้างเผือกสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.. ๒๕๗๐ มีการฟ้อนเล็บในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปถึงการฟ้อนเล็บของเมืองเหนือ

วีดิโอ ฟ้อนเล็บ






     

     ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เป็นการประดิษฐ์ขึ้นจากฟ้อนกำเปอ แล้วใช้ปี่พาทย์เป็นดนตรีประกอบการฟ้อนรำมีอยู่ ๒ แบบ คือ แบบหนึ่งผู้ฟ้อนรำเป็นหญิงล้วน อีกแบบหนึ่งผู้ฟ้อนรำผสมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ได้จัดแสดงครั้งแรกเมื่อขึ้นตำหนักใหม่บนดอยสุเทพ



  
              วีดิโอ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา